วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เจ้าหน้าที่ของรัฐทางปกครอง

เจ้าหน้าที่ของรัฐทางปกครอง


1.ความหมาย
การที่รัฐจะสามารถดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินให้บริการประชาชนของรัฐได้อย่างสำเร็จลุล่วงไปได้โดยราบรื่นจะต้องมีบุคคลากรเป็นผู้ปฏิบัติงานในด้านต่าง ๆ บุคลากรเหล่านี้เรารวมเรียกว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐทางปกครอง” ซึ่งมิใช่จะหมายถึงแต่เฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่อยู่ในสังกัดกรมการปกครองเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินให้บริการสาธารณะไม่ว่าจะอยู่ในสังกัดส่วนราชการใด ๆ ในราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่นก็ตาม
หลักเกณฑ์ที่สำคัญในการพิจารณาว่าบุคคลากรผู้ใดจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทาง ปกครองหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือ
1) บุคลากรนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีตำแหน่ง
กล่าวคือผู้นั้นจะต้องได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทใดประเภทหนึ่ง เช่น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 เป็นต้น ถ้าเป็นการแต่งตั้งโดยองค์กรอื่นที่มิได้หน่วยงานราชการถึงแม้จะมีตำแหน่งหน้าที่และอำนาจในการปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทางปกครองบุคลากรนั้นก็มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐทางปกครองแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น โรงงานสุราได้เสนอชื่อบุคคลไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้บรรจุแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจโรงงานสุรามีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการผลิตสุรารายงานไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของโรงงานสุรา มิได้อาศัยกฎหมายระเบียบข้าราชการฉบับใดและบุคคลดังกล่าวก็ได้รับเงินเดือนจากรายได้การจำหน่ายสุราดังนี้ บุคคลดังกล่าวจึงเป็นเพียงลูกจ้างของโรงงานสุราเท่านั้นมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐทางปกครองแต่อย่างใด ทั้งนี้ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 253/2503
2) บุคลากรนั้นจะต้องมีอำนาจหน้าที่
บุคลากรผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายระเบียบข้าราชการประเภทใดก็ตามถึงแม้จะมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทางปกครองแล้วก็ตาม แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐทางปกครองนั้นจะถือว่าเป็นการกระทำในทางปกครองหรือไม่ยังจะต้องพิจารณาด้วยว่า บุคคลเหล่านั้นได้กระทำการงานในอำนาจหน้าที่ตามตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งหรือไม่ ถ้ากระทำการในอำนาจหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งก็ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทางปกครองและได้กระทำการทางปกครองแต่ถ้าบุคคลนั้นมิได้กระทำการตามตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งโดยกระทำการนอกเหนือจากตำแหน่งที่ตนได้รับแต่งตั้งการกระทำนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำทางปกครองแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น เจ้าพนักงานตำรวจได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน มีอำนาจหน้าที่สืบสวนและสอบสวนคดีอาญาแต่ในวันหยุดราชการทางจังหวัดได้จัดงานกาชาดประจำปีขึ้นคณะกรรมการจัดงานจึงแต่งตั้งให้เป็นกรรมการจัดงานกาชาดฝ่ายข้าราชการตำรวจ และได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการพิจารณาคัดเลือกเกษตรดีเด่นของจังหวัดด้วย ดังนั้นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวในการพิจารณาคัดเลือก นาย ข. ให้ได้รับเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นของจังหวัดจึงมิใช่เป็นการกระทำในทางปกครอง เพราะมิใช่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งที่ตนได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายระเบียบข้าราชการฝ่ายตำรวจ ฯ แต่อย่างใด
เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วเราจึงอาจแบ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐทางปกครองออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
(1) ข้าราชการการเมือง
(2) ข้าราชการประจำ
(3) ลูกจ้างของส่วนราชการ
(4) บุคลากรในรัฐวิสาหกิจ
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ของรัฐทางปกครองนั้นย่อมไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐทางนิติบัญญัติหรือสมาชิกรัฐสภา(สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา) และเจ้าหน้าที่ของรัฐทางตุลาการหรือผู้พิพากษา(ในศาลต่างๆ)

2. ข้าราชการการเมือง
ข้าราชการการเมืองนี้ คือบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งโดยวิถีทางทางการเมือง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยความเห็นชอบของตัวแทนของประชาชนจึงไม่ต้องมีการสอบคัดเลือก แต่เป็นการแต่งตั้งตามความเหมาะสมเท่านั้น ทั้งนี้จึงเป็นการเข้าดำรงตำแหน่งด้วยเหตุผลทางการเมือง
ข้าราชการการเมืองยังแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 ข้าราชการการเมืองในราชการบริหารส่วนกลาง ได้แก่ บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายการเมือง พ.ศ.2535 บัญญัติไว้ดังนี้
1) นายกรัฐมนตรี
2) รองนายกรัฐมนตรี
3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
4) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
5) รัฐมนตรีว่าการทบวง
6) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง
7) รัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง
8) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
9) ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
10) ที่ปรึกษารัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
11) เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
12) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
13) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
14) รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
15) เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
16) ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
17) เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
18) ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
19) เลขานุการรัฐมนตรีวาการทบวง
20) ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวง
2.2 ข้าราชการการเมืองในราชการบริหารส่วนท้องถิ่น คือบุคคลที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในท้องถิ่นให้เป็นสมาชิกสภาและผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้แก่
1). นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
2). คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล
3). ผู้บริหารเทศบาล ได้แก่
คณะเทศมนตรี ซึ่งประกอบด้วยนายกเทศมนตรีและเทศมนตรี
4). นายกเมืองพัทยา
5).ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้แก่
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานที่ปรึกษาและที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

3. ข้าราชการประจำ
ข้าราชการประจำ คือ บุคคลที่ได้รับแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งโดยวิธีการแข่งขันกันด้วยการสอบคัดเลือก จากบุคคลผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายระเบียบข้าราชการประเภทนั้นกำหนดไว้ แล้วประเมินโดยการสอบแข่งขัน เพื่อคัดเลือก ให้เข้าดำรงตำแหน่งบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งข้าราชการประจำนี้จึงต้องอาศัยความรู้ความสามารถเป็นหลัก
ข้าราชการประจำได้แก่
1) ข้าราชการพลเรือน มี 3 ประเภท
ก) ข้าราชการพลเรือนสามัญ
ข) ข้าราชการพลเรือนในพระองค์
ค) ข้าราชการประจำต่างประเทศพิเศษ
2) ข้าราชการทหาร
3) ข้าราชการตำรวจ
4) ข้าราชการครู
5) ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย
6) ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา
7) ข้าราชการอัยการ
8) ข้าราชการตุลาการ
9) ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่
(1) พนักงานเทศบาล
(2) พนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(3) พนักงานส่วนตำบล
(4) ข้าราชการกรุงเทพมหานคร
(5) พนักงานเมืองพัทยา

4. ลูกจ้างของส่วนราชการ
ลูกจ้างของส่วนราชการ คือบุคคลซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในส่วนราชการต่าง ๆ แต่แตกต่างจากข้าราชการประจำตั้งแต่การเข้าสู่ตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมักใช้วิธีการคัดเลือกว่าจ้าง อำนาจหน้าที่ก็แตกต่างกัน โดยลูกจ้างมักมีอำนาจหน้าที่เป็นเพียงผู้ช่วยปฏิบัติงานของข้าราชการประจำ นอกจากนั้นค่าตอบแทนหรือค่าจ้างก็มิได้รับจากงบประมาณในหมวดเงินเดือนแต่จะได้รับจากหมวด ค่าจ้าง
ลูกจ้างของส่วนราชการแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1) ลูกจ้างประจำ
2) ลูกจ้างชั่วคราว

5. บุคคลากรในรัฐวิสาหกิจ
รัฐวิสาหกิจคือองค์กรของรัฐที่รับผิดชอบดูแลจัดการให้บริการสาธารณในด้านต่าง ๆ ซึ่งผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจมีหลายประเภท ได้แก่
1) คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ
2) ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้แก่
(1) ผู้ว่าการ
(2) ผู้อำนวยการ
(3) ผู้จัดการ
3) พนักงานรัฐวิสาหกิจ
4) ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: